INNOVATION งานสร้างสรรค์และวิจัยด้านเวชสำอางและเครื่องสำอาง
กว่า 30 ปีที่ผ่านมา Pan Rajdhevee Group นั้นได้มุ่งมั่นพัฒนาสร้างสรรค์และวิจัยด้านเวชสำอางโดยสำนักงานนวัตกรรม ด้วยทีมงานนักวิทยาศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาความรู้ที่ทำงานคิดค้นและพัฒนา เพื่อค้นหาส่วนผสมประสิทธิภาพสูง วิทยาการที่ทันสมัย และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของ Pan Rajdhevee Group อาทิ แพนคอสเมติก , แพน เดอมาแคร์ ,เครื่องสำอางอิลีเซ่ ,ไมนัส เป็นนวัตกรรมความงามที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
นอกจากนี้ สำนักงานนวัตกรรมที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท แพน ราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและ ประสิทธิภาพในผลิตภัณฑ์ โดยอ้างหลักสากลที่มีการค้นคว้าวิจัยพัฒนาและทดสอบทาง Clinical Test ตามมาตรฐานสากล ด้วยบุคลากร ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มีความปลอดภัยสูงสุด
สำนักงานนวัตกรรมแพนราชเทวี
บริษัทแพน ราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พิชิต สุวรรณประกร เริ่มแรกท่านได้เปิดราชเทวีคลินิก ในปี พ.ศ. 2520 บนถนนพญาไท หน้าโรงหนังเอเธนส์ในอดีต และได้เปิดแพนคลินิก หลังจากนั้นไม่นานที่ราชประสงค์ (หน้ามาบุญครองในปัจจุบัน) และยังคงเป็นแพนคลินิกที่ดำเนินกิจการได้อย่างดีที่นี่จนถึงปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พิชิต สุวรรณประกร ได้คิดค้น วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในคลินิกตั้งแต่แรกเริ่ม ต่อมาอีกประมาณ 2 ปี ราชเทวีคลินิกได้ย้ายไปอยู่แถวๆ ราชประสงค์เช่นกัน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พิชิต สุวรรณประกร ได้เล็งเห็นความจำเป็นและศักยภาพทางด้านการวิจัยของบริษัท เพื่อให้แพทย์ในคลินิกจ่ายผลิตภัณฑ์ที่ดี มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย แก่คนไข้ ในปีถัดมาท่านจึงได้ก่อตั้งคลินิกไลออนส์สุพรรณหงส์ขึ้นที่เพลินจิต เพื่อดำเนินการทางด้านงานวิจัยโดยมีคุณจิราภา สุวรรณประกร เป็นผู้บริหารงานวิจัยที่นี่ ต่อมา คุณอนุสิกข์ ลิมอักษร เข้ามาช่วยงานคุณจิราภาด้านการวิจัย ในปี พ.ศ. 2536 ถัดจากนั้นอีก 2 ปี บริษัทแพนคอสเมติค อินเตอร์เนชั่นแนล ในขณะนั้น (พ.ศ. 2538) ได้ขยายงานวิจัยไปที่ชั้น 2 อาคารมหาทุน และทำการจัดตั้งศูนย์วิจัยอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยสังกัดบริษัทพี ซี ไอ ซี คุณอนุสิกข์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยในขณะนั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Medical Research and Development, MRD) ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ตามที่บริษัทต้องการ เพื่อสร้างความแตกต่างจากสินค้าที่จำหน่ายทั่วไป ในปี พ.ศ. 2539 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พิชิต สุวรรณประกร ได้ขยายงานด้านวิจัยเพิ่มขึ้นอีก โดยการเปิดศูนย์วิจัยขึ้นมาอีกศูนย์หนึ่ง คือศูนย์วิจัยและพัฒนาทางเวชสำอาง (Cosmetic Dermatology Research and Development, CDRD) โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง โดยเฉพาะเทคโนโลยีการนำส่งยา นายแพทย์ธนุสิน พลอยแสงงาม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโครงการ CDRD โดยสังกัดบริษัทไบโอไฟล์ ในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ในเวลาต่อมา ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางเวชสำอางได้มีงานวิจัยด้านการทดสอบกับอาสาสมัครเพิ่มเข้ามา และนายแพทย์ธนุสิน ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการศูนย์วิจยการไบโอไฟล์ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545
เมื่อปี พ.ศ 2547 บริษัทเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทแพน ราชเทวี กรุ๊ป จำกัด ( มหาชน ) ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ (MRD) และศูนย์วิจัยและพัฒนาทางเวชสำอาง (CDRD) จึงย้ายไปสังกัด บริษัทแพน ราชเทวี กรุ๊ป จำกัด ( มหาชน ) วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2547 คุณอนุสิกข์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2547 นายแพทย์ธนุสิน จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทางเวชสำอาง
ในปี พ.ศ. 2548 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พิชิต สุวรรณประกร ได้ทำการปรับโครงสร้างของศูนย์วิจัยใหม่ เพื่อต่อยอดงานวิจัยให้ได้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสังคมมากขึ้น ท่านได้ก่อตั้งสำนักงานนวัตกรรมแพนราชเทวี (Pan Rajdhevee Innovation Agency) ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และงานบริการ ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรม และมีเป้าหมายให้สำนักงานนวัตกรรมทำหน้าที่สร้างนวัตกรรม พัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีทางด้านเครื่องสำอาง เวชสำอาง ยาทาทางผิวหนัง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องมือแพทย์ แนวทางการรักษาและบริการ รวมถึงการพัฒนาแนวทางประกันคุณภาพที่สมบูรณ์แบบ ให้เป็นที่เชื่อถือได้ในระดับสากล เพื่อสนับสนุนธุรกิจขององค์กรและบริษัทในเครือ
สำนักงานนวัตกรรมมีวิสัยทัศน์ (vision) ในการเป็นผู้นำด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม และมีพันธกิจ (mission) ในการดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพตามความต้องการของลูกค้าด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามที่เป็นเลิศ โดยกระจายงานวิจัยออกเป็น 4 ด้าน และมีผู้บริหารงานศูนย์ต่างๆ ดังนี้
1. ศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research and Development Center, RDC)
2. ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการประกันคุณภาพ (Quality Assurance Mission Control Center, QAMC)
3. ศูนย์วิจยการ (Clinical Research Center, CRC)
4. ศูนย์ประกันคุณภาพการรักษาและบริการ (Clinic Accreditation Center, CAC)
ศูนย์ประกันคุณภาพการรักษาและบริการ (CAC) ปิดดำเนินการหลังจากก่อตั้งศูนย์ฯขึ้นมาระยะเวลาหนึ่ง และในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2550 ศูนย์วิจัยและพัฒนา (RDC) ได้รวมเข้ากับศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการประกันคุณภาพ (QAMC) และเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิจัยเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง (Pharmaceutical and Cosmeceutical Research Center, PCRC) โดยมี ดร. พนิดา ลอออรรถพงศ์ บริหารงานเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ส่วนศูนย์วิจยการยังคงเดิม และในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ดร. พนิดา ลอออรรถพงศ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรม ในปัจจุบัน (เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551) สำนักงานนวัตกรรมจึงประกอบด้วยศูนย์วิจัย 2 ศูนย์ ดังนี้
1. ศูนย์วิจัยเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง (Pharmaceutical and Cosmeceutical Research Center, PCRC)
2. ศูนย์วิจยการ (Clinical Research Center, CRC) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์ประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ (Product Safety and Efficacy Assessment Center, SEAC)
สำนักงานนวัตกรรมทำการวิจัยครบวงจร ตั้งแต่การคิดค้นนวัตกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามวัตถุประสงค์และมีความคงสภาพดีหลังออกจำหน่าย ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาได้ ตลอดจนทดสอบการขยายกำลังผลิตและสร้างเครื่องมือที่จำเป็นในการผลิตผลิตภัณฑ์
การคิดค้นนวัตกรรมจำเป็นต้องมีการคาดการณ์อนาคตของผลิตภัณฑ์ที่ยาวไกล จึงจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างจากผู้อื่นในเวลาที่จะออกจำหน่ายในอนาคต การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี หรือมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยที่มีผลกระทบระหว่างวิจัยและพัฒนา รวมถึงอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่ทราบล่วงหน้า ดังนั้น การคิดค้นนวัตกรรมที่มีความแปลกใหม่อย่างสิ้นเชิง (break-through) จึงมีคุณค่ามาก แต่ก็คิดได้ยากมากเช่นกัน ตัวอย่างนวัตกรรมของสำนักงานนวัตกรรมแพนราชเทวีที่มีความแปลกใหม่อย่างสิ้นเชิง ได้แก่
· ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีเนื้อนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ที่ออกจำหน่ายในบริษัทในเครือ เช่น ผลิตภัณฑ์กันแดดในกลุ่ม Minus
· ผลิตภัณฑ์ที่ให้คุณสมบัติ Nickel block ที่ช่วยปกป้องผิวจากการแพ้โลหะหนัก ที่ออกจำหน่ายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ PANDERMACARE
· การบรรจุสารสำคัญทั้งยาและเครื่องสำอางในอนุภาคนาโนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์
· ผลิตภัณฑ์ยารักษาเชื้อราที่เล็บโดยการทา (terbinafine)
· ผลิตภัณฑ์ที่ให้โอกาสลูกค้าเลือกส่วนผสมด้วยตนเองตามความต้องการ ในกลุ่ม Nu-Encap
เป็นต้น
สำนักงานนวัตกรรมทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจรตามมาตรฐานสากล นับตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งตั้ง specification ของวัตถุดิบอย่างเหมาะสม ช่วงระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศูนย์วิจัยเภสัชภัณฑ์และเวชสำอางจะส่งผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าส่วนต่างๆ ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมามีเนื้อของผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของลูกค้า และศูนย์ประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยผลิตภัณฑ์จะทำการตรวจสอบแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการระคายเคืองของทุกผลิตภัณฑ์ก่อนออกจำหน่าย และทดสอบประสิทธิภาพของบางผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเห็นผลในอาสาสมัครด้วย ในขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยเภสัชภัณฑ์และเวชสำอางก็จะดำเนินการตรวจสอบความคงสภาพของผลิตภัณฑ์ในสภาพเร่ง เพื่อกำหนดอายุของผลิตภัณฑ์และสภาวะการเก็บผลิตภัณฑ์ รวมถึงทำ challenge test โดยเติมเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่กำหนดลงในผลิตภัณฑ์ และตรวจสอบปริมาณเชื้อเมื่อเวลาผ่านไปว่าปริมาณเชื้อลดลงตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ หากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาอยู่ผลิตภัณฑ์ใดไม่ผ่านการทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นด้านใด ทีมงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จะต้องปรับสูตรผลิตภัณฑ์ใหม่ และส่งทดสอบด้านต่างๆ จนกว่าจะผ่านการทดสอบทุกด้าน ผลิตภัณฑ์นั้นจึงจะพร้อมที่จะผลิตออกจำหน่าย ในระหว่างการผลิตเพื่อออกจำหน่าย ศูนย์วิจัยเภสัชภัณฑ์และเวชสำอางจะทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกจำหน่าย batch แรกๆ เป็นเวลา 30 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าอายุผลิตภัณฑ์และสภาวะการเก็บผลิตภัณฑ์ที่ได้คาดการณ์ไปก่อนหน้านั้นถูกต้อง ศูนย์วิจัยเภสัชภัณฑ์และเวชสำอางยังต้องมีส่วนร่วมในการผลิตผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 3 batch แรก เพื่อให้มั่นใจว่าวิธีผลิตที่ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการสามารถนำไปขยายขนาดการผลิตได้ และให้เนื้อผลิตภัณฑ์เหมือนช่วงพัฒนาในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นช่วงที่ส่งให้ลูกค้าตรวจสอบ
ในการตรวจสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ศูนย์ประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ได้ใช้โครงร่างงานวิจัยที่ได้มาตรฐานสากล และมีทีมแพทย์ให้คำปรึกษาและอนุมัติโครงร่างก่อนลงมือทดสอบทุกชิ้นงาน ภายใต้ ISO 9001-2000 ซึ่งมุ่งเน้นความต้องการของลูกค้า การบริหารกระบวนการ และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
ในการที่ศูนย์วิจัยเภสัชภัณฑ์และเวชสำอางจะทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความมั่นใจทางด้านประสิทธิภาพตลอดอายุของผลิตภัณฑ์นั้น ศูนย์วิจัยฯจะต้องมีทีมงานด้านการประกันคุณภาพที่เชื่อถือได้ ต้องมีการพัฒนาวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญที่มีความสามารถในการแยกแยะสารสำคัญออกมาจากส่วนประกอบอื่นๆ ในผลิตภัณฑ์ได้ วิธีวิเคราะห์ที่ใช้ต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ ทำซ้ำแล้วได้ผลเหมือนเดิม หรือมีการทำ validation ของวิธีวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากล หรือตามเภสัชตำรับ (Pharmacopoeia) เป็นอย่างน้อย และมีการตั้ง specification ของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ศูนย์วิจัยฯจึงให้ความสำคัญในด้านการวิเคราะห์ไม่น้อยกว่างานวิจัยด้านอื่นๆ ในปัจจุบัน ศูนย์วิจัยฯอยู่ระหว่างการยื่นขอ ISO 17025 นอกจากการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทางเคมีแล้ว ศูนย์วิจัยฯยังทำการตรวจสอบปริมาณเชื้อโดยรวมที่มีในผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะต้องผ่านเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด
โดยสรุป สำนักงานนวัตกรรมมีความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล ทัดเทียมนานาชาติ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ตามความต้องการของลูกค้า ด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภคในที่สุด
สงวนลิขสิทธิ์ © 2560 บริษัทแพนราชเทวีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)